วิชา LA 103 ป.พ.พ.นิติกรรมและสัญญา (ซ่อม)

วิเคราะห์แนวข้อสอบซ่อมแยกตามมาตราที่น่าจะออกสอบ
วิชา LA 103 ป.พ.พ.นิติกรรมและสัญญา
1.      มาตรา 169 ว.1,169 ว.2+360หรือ 170 หรือ155 หรือ 173  (คาดว่าน่าจะออกมาตรา 169 วรรคสอง ควบ มาตรา 360)
มาตรา 169 วรรค 2 การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลัง การแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่ง ให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
มาตรา 360 บทบัญญัติแห่ง มาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ ใช้บังคับถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อน จะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตก เป็นผู้ไร้ความสามารถ
ตัวอย่างโจทย์
ข้อ 1.1)นายสมบัติซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครให้แก่นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา 5,000,000 บาท หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว 5 วัน นายสมบัติถูกศาลแพ่งสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  นายอาทิตย์ได้ทราบข่าวว่านายสมบัติถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว แต่อยากได้บ้านหลังนั้น นายอาทิตย์จึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์สนองตอบตกลงซื้อบ้านส่งไปให้นายสมบัติ ณ ที่อยู่ของนายสมบัติ  นางสมศรีซึ่งเป็นผู้อนุบาลของนายสมบัติได้รับจดหมายดังกล่าวไว้  ดังนี้ สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 169 วรรค 2 วางหลักว่า การแสดงเจตนาที่ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ฯ หรือเสมือนคนไร้ฯ
มาตรา 360 วางหลักว่า ตามมาตรา 169 วรรค 2 ยกเว้นการบังคับ หาก 1)ขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือ  2) หากก่อนสนองรับ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
วินิจฉัย
-          ประเด็นการแสดงเจตนาของนายสมบัติยังมีผลหรือไม่  วินิจฉัยว่าตามอุทาหรณ์เมื่อนายสมบัติได้แสดงเจตนาออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไปแม้ภายหลังศาลแพ่งจะสั่งให้นายสมบัติเป็นคนไร้ความสามารถ (มาตรา 169 วรรค 2) แต่ตามอุทาหรณ์ปรากฏว่านายอาทิตย์ทราบก่อนสนองเจตนาว่านายสมบัติถูกศาลแพ่งสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เข้าหลักข้อยกเว้นตามมาตรา 360 ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติตามมาตร 169 วรรค 2 มาใช้บังคับ จึงมีผลให้การแสดงเจตนาของนายสมบัติมีอันเสื่อมไป ถือว่าไม่มีการเสนอ
-          ประเด็นการแสดงเจตนาของนายอาทิตย์มีผลเช่นไร วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริง นายอาทิตย์ทราบว่าศาลแพ่งสั่งให้นายสมบัติเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  แต่อยากได้บ้านหลังนั้นจึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบตกลงซื้อบ้าน เข้าหลักข้อยกเว้น กรณีที่ก่อนการสนองรับ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า ผู้เสนอเจตนาตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ (มาตรา 360)  จึงเป็นการทำคำสนองโดยไม่มีคำเสนอ
สรุป        สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์ไม่เกิดขึ้น   เพราะนายอาทิตย์ทราบว่านายสมบัติถูกศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถก่อนการแสดงเจตนา (มาตรา 169 วรรค 2 เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 360) ถือว่าไม่มีคำเสนอของนายสมบัติ  มีเพียงคำสนองของนายอาทิตย์ ถึงแม้นางสมศรีผู้อนุบาลของนายสมบัติจะได้รับจดหมายคำสนองของนายอาทิตย์ สัญญาซื้อขายบ้านก็ไม่เกิดขึ้น
ข้อ 1.2.) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 นายต้นซึ่งอยู่ที่ นครปฐมได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายรถยนต์คันหนึ่งของตนในราคา 500,000 บาท ให้แก่นายปลายซึ่งอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว  นายต้นเกิดเส้นโลหิตในสมองแตกถึงแก่ความตายในวันที่ 4 มกราคม 2552 ดังนี้อยากทราบว่า
(ก)   การแสดงเจตนาขายรถยนต์ของนายต้นมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  จงอธิบาย
(ข)   หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านายปลายได้ทราบข่าวการตายของนายต้นในวันที่ 5 มกราคม 2552 แต่อยากได้รถยนต์คันที่นายต้นเสนอขาย นายปลายจึงได้เขียนจดหมายสนองตอบตกลงซื้อรถยนต์คันนั้นแล้วส่งไปให้นายต้นในวันที่ 7 มกราคม 2552 และนางสาวกิ่งลูกสาวนายต้นได้รับจดหมายฉบับนั้นไว้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 169 วรรค 2 วางหลักว่า การแสดงเจตนาที่ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ฯ หรือเสมือนคนไร้ฯ
มาตรา 360 วางหลักว่า ตามมาตรา 169 วรรค 2 ยกเว้นการบังคับ หาก 1)ขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือ  2) หากก่อนสนองรับ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ



วินิจฉัย
-          ประเด็นการแสดงเจตนาขายรถยนต์ของนายต้น(คำเสนอ)มีผลทางกฎหมายอย่างไร  กรณีตามอุทาหรณ์ หลังจากนายต้นส่งจดหมายแสดงเจตนาไป แล้วนายต้นเสียชีวิต  เจตนานั้นยังมีผลสมบูรณ์ (ย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังผู้เสนอจะตาย....มาตรา 169 วรรค 2)
-          ประเด็นนายปลายทำคำสนองเมื่อรู้แล้วว่านายต้นเสียชีวิตมีผลอย่างไร  กรณีตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงนายปลายผู้รับคำเสนอได้ทราบก่อนทำคำสนองว่าผู้เสนอตายแล้ว เข้าหลักข้อยกเว้น(มาตรา 360 ที่วางหลักว่า ตามมาตรา 169 วรรค 2 ยกเว้นการบังคับ หาก 1)ขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือ  2) หากก่อนสนองรับ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ)  ถือได้ว่าข้อเสนอเป็นอันตกไป คือ ไม่มีคำเสนอ ดังนั้นการทำคำสนองของนายปลายจึงไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะเมื่อไม่มีคำเสนอ มีแต่คำสนอง สัญญาไม่เกิด
สรุป  (1) คำเสนอยังมีผลสมบูรณ์ แม้ภายหลังทำคำเสนอผู้เสนอจะตาย(ม.169 วรรค 2)
         (2) สัญญาซื้อขายรถยนต์ไม่เกิด เพราะคำเสนอถูกยกเลิกถือว่าไม่มีคำเสนอ(ม.169+ม.360) มีแต่คำสนอง

2.      มาตรา 159,160,162(คาดว่าน่าจะออกสอบมาตรา 159 หรือมาตรา 162)
มาตรา 159 การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
      การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
      ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคล ภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ได้รู้ หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น
มาตรา 162 ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสีย ไม่แจ้งข้อความจริง หรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ การ นั้นจะเป็นกลฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้น ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น



ตัวอย่างโจทย์
ข้อ2. 1) ตัวอย่าง นายต้นเอานาฬิกาเรือนชุบทองไปจำนำที่โรงรับจำนำโดยหลอกว่าเป็นนาฬิกาเรือนทองคำแท้ เจ้าของโรงรับจำนำตรวจดูแล้วรู้ว่าเป็นนาฬิกาเรือนชุบทอง แต่เห็นว่านาฬิกาเรือนนั้นเป็นนาฬิกาโบราณหายากและมีคุณค่าจึงรับจำนำไว้ มิได้หลงเชื่อตามคำหลอกลวงแต่อย่างใด ดังนี้ การจำนำนาฬิกาดังกล่าวมีผลตามกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 159 การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
      การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
      ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคล ภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ได้รู้ หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น
วินิจฉัย   กรณีตามปัญหาวินิจฉัยได้ว่า 
                กลฉ้อฉล คือ การใช้อุบายหลอกลวงให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิด เพื่อให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นแสดงเจตนาทำนิติกรรม
                จาก ป.พ.พ.มาตรา 159 สามารถอธิบายความหมายของกลฉ้อฉลโดยทั่วไปได้ดังนี้
                (1) มีการใช้อุบายหลอกลวงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการแสดงข้อความให้ผิดไปจากความเป็นจริง อาจทำด้วยวาจา หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยการแสดงกริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิดก็ได้
                (2) โดยจงใจหลอกลวงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
                (3) การใช้อุบายหลอกลวงดังกล่าวนั้นจะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
                จากข้อเท็จจริง การที่นายต้นเอานาฬิกาเรือนชุบทองไปจำนำที่โรงรับจำนำโดยหลอกว่าเป็นนาฬิกาเรือนทองคำแท้ เจ้าของโรงรับจำนำตรวจดูแล้วรู้ว่าเป็นนาฬิกาเรือนชุบทอง แต่เห็นว่านาฬิกาเรือนนั้นเป็นนาฬิกาโบราณหายากและมีคุณค่าจึงรับจำนำไว้ การจำนำนาฬิกาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ แม้นายต้นจะจงใจหลอกลวงโรงรับจำนำด้วยการเอานาฬิกาเรือนชุบทองมาจำนำ โดยหลอกว่าเป็นนาฬิกาเรือนทองคำแท้ก็ตาม แต่เจ้าของโรงรับจำนำตรวจดูแล้วรู้ว่าเป็นนาฬิกาเรือนชุบทองมิใช้ทองคำแท้ จึงมิได้หลงเชื่อตามคำหลอกลวงนั้น กรณีดังกล่าวจึงมิใช่กลฉ้อฉลที่ถึงขนาดอันจะทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะตาม ปพพ.ม.1592
สรุป การจำนำนาฬิกาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆียะเพราะกลฉ้อฉล เพราะการใช้อุบายหลอกหลวงดังกล่าวยังไม่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

ข้อ.2.2 ) คุณนายแดงได้นำสร้อยเพชรปลอม 1 เส้นไปขายให้กับคุณหญิงอ้อย ในราคา 500,000 บาท โดยหลอกว่าเป็นสร้อยเพชรแท้น้ำงาม คุณหญิงอ้อยหลงเชื่อจึงซื้อสร้อยเพชรเส้นนั้นไป ต่อมาคุณหญิงอ้อยได้นำสร้อยเพชรไปให้ร้านเพชรดูเพื่อตีราคา  เจ้าของร้านเพชรได้บอกคุณหญิงอ้อยว่าสร้อยเพชรดังกล่าวเป็นของปลอม ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าการซื้อขายแหวนเพชรนั้นมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 159 การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
      การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
วินิจฉัย
                กลฉ้อฉล คือ การใช้อุบายหลอกลวงให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิด เพื่อให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นแสดงเจตนาทำนิติกรรม
                จาก ป.พ.พ. มาตรา 159 สามารถอธิบายความหมายของกลฉ้อฉลโดยทั่วไปได้ดังนี้
                (1) มีการใช้อุบายหลอกลวงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการแสดงข้อความให้ผิดไปจากความเป็นจริง อาจทำด้วยวาจา หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยการแสดงกริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิดก็ได้
                (2) โดยจงใจหลอกลวงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
                (3) การใช้อุบายหลอกลวงดังกล่าวนั้นจะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
กรณีตามอุทาหรณ์ คุณนายแดงนำสร้อยเพชรมาหลอกขายคุณหญิงอ้อย โดยหลอกว่าเป็นสร้อยเพชรแท้น้ำงาม คุณหญิงอ้อยหลงเชื่อจึงซื้อไว้ เข้าหลักแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล ซึ่งหากไม่ได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น คุณหญิงอ้อยคงไม่ซื้อสร้อยเพชรเส้นนั้น (มาตรา 159 วรรค1+2) การซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะ
สรุป การซื้อขายสร้อยเพชรเป็นโมฆียะ เพราะเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล(มาตรา 159 วรรค 1+2)

3.      มาตรา 193/14(1)-193/28)(ข้อนี้คาดว่าออกมาตรา 193/14(1))
มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็น หนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยาย ว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
มาตรา 193/28 การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด  จะเรียกคืนไม่ได้  แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม
                บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ  หรือโดยการให้ประกันด้วย  แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้
ตัวอย่างโจทย์
ข้อ 3/1) นายทองทำสัญญากู้เงินจากนายท้วมจำนวนเงิน 50,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2542 มีกำหนดชำระคืนวันที่ 20 มีนาคม 2543 แต่เมื่อหนี้ถึงกำหนด นายทองไม่นำเงินมาชำระ นายท้วมได้ทวงถามตลอดมาแต่นายทองก็ยังไม่นำเงินมาชำระแก่นายท้วม  จนกระทั่งวันที่ 10 มีนาคม 2553 (ซึ่งเหลืออีก 10 วัน จะครบกำหนดอายุความ 10 ปี)นายทองได้นำเงินมาชำระให้แก่นายท้วม10,000 บาท และบอกกับนายท้วมว่าจะนำเงินส่วนที่ค้างอยู่มาชำระแก่นายท้วมในภายหลัง แต่หลังจากนั้นนายทองก็ไม่นำเงินมาชำระอีกเลย นายท้วมจึงนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 10 ตุลาคม 2553 นายทองต่อสู้ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้เพราะคดีขาดอายุความแล้ว  นายท้วมอ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายท้วมฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ ป.พ.พ.มาตรา 193/30 บัญญัติว่า “อายุความนั้นถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี”
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็น หนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยาย ว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
วินิจฉัย  กรณีตามอุทาหรณ์นายทองนำเงินมาชำระแก่นายท้วมจำนวน 10,000 บาท พร้อมทั้งบอกแก่นายท้วมว่าจะนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระแก่นายท้วมในภายหลัง  ถือได้ว่านายทองรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ตามมาตรา 193/14(1) ซึ่งเป็นเหตุให้อายุความซึ่งเหลืออีกเพียง 10 วันสะดุดหยุดลง  นั่นคือเป็นเหตุให้ต้องเริ่มนับอายุความ 10 ปีใหม่ในวันที่ 10 มีนาคม 2553 กำหนดอายุความ 10 ปี จะครบในวันที่ 10 มีนาคม 2563 ข้ออ้างของนายท้วมจึงฟังขึ้น
สรุป ข้ออ้างของนายท้วมจึงฟังขึ้น เพราะอายุความสะดุดหยุดลง(มาตรา 193/14(1)

ข้อ 3/2)   เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2537 นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์ จำนวน 300,000 บาท โดยมีนายพุธเป็นผู้ค้ำประกัน การกู้เงินรายนี้ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน เพียงแต่ตกลงกันว่า ถ้านายจันทร์ต้องการเงินคืนเมื่อใดให้ทวงถามก่อน หลังจากกู้เงินไปได้ 3 เดือน นายจันทร์ได้ทวงถามให้นายอาทิตย์ชำระเงินตลอดมา แต่นายอาทิตย์ก็ไม่นำเงินมาชำระ จนกระทั่งอายุความฟ้องร้อง 10 ปี ได้สิ้นสุดลง ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2548 นายอาทิตย์ได้รับมรดกจากป้าเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท จึงได้แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่นายจันทร์ จำนวน 50,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว ในวันที่นำเงินมาชำระนั้นเอง นายจันทร์ได้ให้นายอาทิตย์ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้ตน 1 ฉบับ มีใจความว่า นายอาทิตย์จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่นายจันทร์อีก 100,000 บาท ในวันที่ 30 มกราคม 2548 ดังนี้อยากทราบว่า
ก. ถ้านายอาทิตย์มาทราบภายหลังว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว นายอาทิตย์จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้ว 50,000 บาท คืนจากนายจันทร์ได้หรือไม่ จงอธิบาย
ข. เมื่อหนี้ถึงกำหนดในวันที่ 30 มกราคม 2548 นายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ นายจันทร์จะนำคดีไปฟ้องร้องนายอาทิตย์และนายพุธได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/28 การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม
           บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ...แต่จะอ้างความข้อนี้เป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้
วินิจฉัย
(ก)   การที่นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์จำนวน 300,000 บาท และมิได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์เลย จนกระทั่งอายุความ 10 ปีได้สิ้นสุดลง นายอาทิตย์จึงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์จำนวน 50,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว ตามหลักการชำระหนี้ ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นแล้ว ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม เนื่องจากสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความมิได้ทำให้หนี้นั้นระงับหรือดับสูญไป เมื่อหนี้นั้นได้ชำระไปแล้วตามมูลหนี้ที่เกิดขึ้น นายอาทิตย์จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้ว 50,000 บาท คืนจากนายจันทร์ไม่ได้
(ข)   เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระในวันที่ 30 มกราคม 2548 นายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ นายจันทร์จะนำคดีไปฟ้องร้องนายอาทิตย์ได้ เพราะเมื่อหนี้ขาดอายุความแล้วแม้นายอาทิตย์จะไม่ทราบ แต่นายอาทิตย์ก็ได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หนังสือรับสภาพความรับผิดนั้นย่อมใช้บังคับได้
สรุป (ก) นายอาทิตย์จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้ว 50,000 บาท คืนจากนายจันทร์ไม่ได้(มาตรา 193/28 วรรคแรก)
        (ข) นายจันทร์จะนำคดีไปฟ้องร้องนายอาทิตย์ได้ แต่ฟ้องนายพุธไม่ได้ เพราะการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ  หรือโดยการให้ประกันด้วย  แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้(มาตรา 193/28 วรรค 2 )

4.      มาตรา 354+355 หรือ380 หรือ 381(ข้อนี้วิเคราะห์แล้วว่าน่าจะออก มาตรา 354-355)
มาตรา 354 คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง นั้นท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้
มาตรา 355 บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะ ทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสีย ภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น ท่าน ว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
ตัวอย่างโจทย์
ข้อ 4.1) นายไพโรจน์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดลพบุรีส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่ง ของตนแก่นายไพรัชซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ในราคา 150,000 บาท
(ก)   โดยมิได้กำหนดไปในจดหมายเสนอขายนั้นด้วยว่าถ้านายไพรัชต้องการซื้อม้าตัวนั้น ต้องสนองตอบมาภายในเวลาใด กรณีหนึ่ง
(ข)   โดยกำหนดไปในจดหมายเสนอขายนั้นด้วยว่าถ้านายไพรัชต้องการซื้อม้าตัวนั้น ต้องสนองตอบมาภายในวันที่ 15 มกราคม 2546 อีกกรณีหนึ่ง
ในแต่ละกรณีดังกล่าว ถ้านายไพโรจน์ต้องการถอนคำเสนอขายม้าดังกล่าว นายไพโรจน์จะกระทำได้หรือไม่ เมื่อใด
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 354 คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง นั้นท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้
มาตรา 355 บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะ ทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสีย ภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น ท่าน ว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
วินิจฉัย
-ประเด็นตาม (ก) นายไพโรจน์จะถอนคำเสนอขายม้าได้หรือไม่ เมื่อใด
กรณีตามอุทาหรณ์ นายไพโรจน์ซึ่งอยู่จังหวัดลพบุรีส่งจดหมายเสนอขายม้าของตนให้นายไพรัชซึ่งอยู่จังหวัดนครราชสีมา เข้าหลักบุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นที่อยู่ห่างโดยระยะทางโดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง นั้น หาอาจจะถอนได้ไม่(มาตรา 355)  “เวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง”พิจารณาได้จากระยะเวลาที่ควรจะเป็นในการติดต่อทางจดหมายระหว่างนายไพโรจน์และนายไพรัช กล่าวคือตามปกติการส่งจดหมายจากจังหวัดลพบุรีไปจังหวัดนครราชสีมา จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ให้เวลานายไพรัชพิจารณาตัดสินใจ 1 วัน และเมื่อนายไพรัชส่งจดหมายตอบกลับไปยังนายไพโรจน์อีก 3 วัน รวมเป็นเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองในกรณีนี้คือ 7 วัน
    ดังนั้นในกรณี(ก) ตามอุทาหรณ์ นายไพโรจน์สามารถถอนคำเสนอขายม้าของตนได้เมื่อพ้นกำหนด 7 วัน นับแต่เวลาที่ได้ส่งจดหมายคำเสนอขายม้าแก่นายไพรัชไป
-ประเด็นตาม (ข) นายไพโรจน์จะถอนคำเสนอขายม้าได้หรือไม่ เมื่อใด
      กรณีตามอุทาหรณ์นายไพโรจน์ส่งจดหมายเสนอขายม้าของตนแก่นายไพรัชโดยบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองตอบมาภายในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2546  เข้าหลักคำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง ซึ่งไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้(มาตรา 354) นายไพโรจน์จึงสามารถถอนคำเสนอของตนได้ภายหลังวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2546 อันเป็นระยะเวลาที่บ่งไว้ให้ทำคำสนอง
สรุป
ก.      นายไพโรจน์สามารถถอนคำเสนอขายม้าของตนได้เมื่อพ้นกำหนด 7 วัน นับแต่เวลาที่ได้ส่งจดหมายคำเสนอขายม้าแก่นายไพรัชไป
ข.      นายไพโรจน์สามารถถอนคำเสนอของตนได้ภายหลังวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2546 อันเป็นระยะเวลาที่บ่งไว้ให้ทำคำสนอง

ข้อ 4.2) .นายน้อยซึ่งอยู่นนทบุรีได้ส่งจดหมายเสนอขายที่ดินของตน  1  แปลง แก่นายมากอยู่ที่เพชรบุรี ในราคา 2 ล้านบาท
  ก. โดยกำหนดระยะเวลาในจดหมายเสนอขายนั้นด้วยว่า ถ้านายมากต้องการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว ให้สนองตอบภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2553
 ข. โดยมิได้กำหนดในระยะเวลาด้วยว่า ถ้านายมาก ต้องการซื้อที่ดินแปลงนั้น จะต้องสนองตอบภายในเวลาใด

 ในแต่ละกรณีดังกล่าว ถ้านายน้อยต้องการถอนคำเสนอขายที่ดินแปลงดังกล่าว นายน้อยจะทำได้หรือไม่ เมื่อใด เพราะเหตุใด
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 354 คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง นั้นท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้
มาตรา 355 บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะ ทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสีย ภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น ท่าน ว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
วินิจฉัย
-          ประเด็นตาม (ก) นายน้อยจะถอนคำเสนอขายที่ดินได้หรือไม่ เมื่อใด เพราะเหตุใด
กรณีตามอุทาหรณ์ นายน้อยทำคำเสนอประเภทบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้ถอนภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ กล่าวคือภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2553 นายน้อยจะถอนคำเสนอขายที่ดินของตนไม่ได้(มาตรา 354) แต่สามารถถอนได้เมื่อพ้นกำหนดวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ไปแล้ว
-          ประเด็นตาม(ข) นายน้อยทำคำเสนอถึงผู้อยู่ห่างโดยระยะทาง กฎหมายห้ามมิให้ถอนคำเสนอก่อนระยะเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง  ซึ่งระยะเวลาอันควรคาดหมายสำหรับการติตดต่อทางจดหมายในประเทศนั้นมีหลักว่า ระยะเวลาหลังจากส่งคำเสนอทางจดหมายออกไป 3 วันจดหมายน่าจะไปถึงผู้รับ ให้เวลาผู้รับตัดสินใจ 1 วัน และทำคำสนองตอบกลับทางจดหมายอีก  3 วัน รวมระยะเวลาอันควรคาดหมาย 7 วัน  นั่นคือ หากนายน้อยต้องการถอนคำเสนอ สามารถทำได้หลังครบกำหนด 7 วัน หลังจากส่งคำเสนอออกไป (มาตรา 355)
สรุป (ก) นายน้อยสามารถถอนคำเสนอได้เมื่อพ้นกำหนดวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ไปแล้ว(มาตรา 354)
          (ข)นายน้อยสามารถถอนคำเสนอ ได้หลังครบกำหนด 7 วัน หลังจากส่งคำเสนอออกไป (มาตรา 355)


http://www.ziddu.com/download/12151677/LA103.doc.html

Read more...

เตรียมตัวก่อนสอบ LW102

เอาไปอ่านก่อนเท่าที่จำเป็น‏

http://www.ziddu.com/download/12083954/Desktop.rar.html


วิเคราะห์ตัวอย่างข้อสอบเก่าที่ใกล้เคียงที่สุด
 
http://www.ziddu.com/download/12083984/FinalOldLW102.rar.html

(กฤษณ์ ขำทวี )
...........................................................................................................


ทำให้word 2003 เปิด 2007 ได้ (โปรดใช้วิจารณญาณในการลงคอมพังผมไม่เกี่ยว *-*)

http://www.ziddu.com/download/12084109/FileFormatConverters.exe.html

Read more...

การสอบ (เปลี่ยนแปลง)

สวัสดีเพื่อนๆ นศ.ราม รุ่น 3 ทุกท่านค่ะ  ขอแจ้งข่าว การสอบในวันที่ 16-17 ตุลาคม นี้นะค่ะ และ วันเปิดเรียนเทอม 2วันเสาร์ที่ 16 ตค. สอบเอกชน ตอนเช้า มี 3 ข้อ
วันเสาร์ที่ 16 ตค. สอบทรัพย์  ตอนบ่าย มี  4 ข้อ
วันอาทิตย์ที่ 17 ตค. สอบละเมิด   ตอนเช้า มี 4 ข้อ ตอนบ่ายอาจมีติวนิติกรรม
วันเสาร์ที่ 23 ตค. สอบซ่อมนิติกรรม  ตอนเช้า  มี 4 ข้อ
***สำหรับคนทีไม่มีการสอบซ่อม เราจะปิดภาคเรียนในวันที่  23-24  และ 30-31 ตุลาคม  เนื่องจากว่า ท่านอาจารย์ที่จะสอนไม่สามารถมาสอนในวันที่ 30-31 ตค. ได้  จึงเลื่อนการสอนไปในวันศุกร์ที่ 5 พย. ตอนเย็น และ วันเสาว์-อาทิตย์ที่ 6-7 พย. ทั้งวันค่ะ อาจมีปล่อยช้านิดหน่อยนะค่ะ
***ส่วนซ่อมรัฐธรรมนูญ  ตกลงว่าจะมีการสอบซ่อมใหม่อีกครั้งค่ะ แต่วันยังไม่ได้กำหนด
***หมายเหตุ*** พี่นฤมลจะมาคุมสอบค่ะ และบอกว่าจะปิดประตูห้องทุกด้าน  จะให้เข้าออกเพียงด้านทางบันไดเท่านั้น
         แลบลิ้นปลิ้นตา ตั้งใจอ่านหนังสือกันนะค่ะ สู้สู้

bier - s.bier99@hotmail.com

Read more...

About This Blog

  © Blogger template Shush by Ourblogtemplates.com 2009

Back to TOP